วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

มาตรา 112

 มาตรา 112

การกระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญานี้ คือ
(1)  หมิ่นประมาท (Defamation) หมิ่นประมาท ตามมาตรา 112 มีความหมายเดียวกับ หมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปตามมาตรา 326 กล่าวคือ เป็นการใส่ความบุคคลตามมาตรา 112 ต่อบุคคล      ที่สาม (คือ ยืนยันข้อเท็จจริง โดยไม่ว่าจะเท็จ หรือจะจริง ก็เป็นการใส่ความทั้งนั้น) โดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลตามมาตรา 112 เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แม้คำพูดดังกล่าวจะจริงหรือเท็จก็ตาม ถ้าพระมหากษัตริย์เสียหาย  ก็ถือว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แล้วตามมาตรานี้ได้
โดยทั่วไป การหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ผู้กระทำอาจยกเหตุตามมาตรา 329 มาอ้างว่า
ตนกระทำได้ เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสีย  เกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม หรือในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำหรือในการแจ้งข่าวด้วย ความเป็นธรรมหรือการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม นอกจากนี้ ผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทอาจอ้างเหตุยกเว้นโทษได้ตามมาตรา 330  หากพิสูจน์ได้ว่าที่หมิ่นประมาทไปนั้นเป็นความจริง แต่ห้ามพิสูจน์ในกรณีที่ข้อที่เป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความ ในเรื่อส่วนตัวและการพิสูจน์ไปก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
อย่างไรก็ตามคำพิพากษาฎีกา ที่ 51/2503 ยืนยันว่าเหตุให้หมิ่นประมาทได้ตามมาตรา 329   และเหตุยกเว้นโทษ  ตามมาตรา 330 ไม่นำมาใช้บังคับกรณีพระมหากษัตริย์  เพราะพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะมีสถานะแตกต่างจากบุคคลทั่วไป ซึ่งมาตรา 112 มุ่งคุ้มครองเป็นพิเศษ  ดังนั้น หากใครหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และจะอ้างต่อศาลว่าตนติชมด้วยความเป็นธรรม ศาลก็ไม่รับฟัง ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย และ ศาสตราจารย์ ประภาศน์ อวยชัย ได้อธิบายว่า ความผิดตามมาตรา 112 นั้น เป็นความผิดที่เคยบัญญัติไว้โดยคำนึงถึงนสถานะทางบุคคลที่ถูกกระทำโดยเฉพาะ ฉะนั้น บทบัญญัติมาตรา 329 และมาตรา 330 – มาตรา 331 ย่อมนำมาใช้กับความผิดตามมาตรา 112 นี้ไม่ได้
(2)  ดูหมิ่น (Insult) ได้แก่ การกระทำความผิดตามมาตรา 393  แต่ไม่จำต้องกระทำซึ่งหน้าหรือ   ด้วยการโฆษณา แม้กระทำลับหลังก็เป็นความผิดได้ กล่าวคือ เป็นการสบประมาท ดูถูกเหยียดหยามหรือแสดงกิริยาอาการเหยียดหยาม เช่น ด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือ กล่าวต่อบุคคลนั้นด้วยคำสามัญ แต่มีความหมายเป็นการดูหมิ่น, ด่าว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน, ด่าบิดามารดา, ถ่มน้ำลายรด, ยกส้นเท้าให้ เป็นต้น   ถ้าไม่มีการกล่าวต่อบุคคลที่สามย่อมเป็นผิดฐานดูหมิ่น และถ้าเข้าลักษณะการดูหมิ่นแล้ว แม้จะกล่าวดูหมิ่นต่อบุคคลที่สามก็ไม่อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ เพราะการดูหมิ่นไม่ใช่การกล่าวใส่ความตามมาตรา 326(9)
(3) แสดงความอาฆาตมาดร้าย (Threaten)  ได้แก่  การแสดงออกด้วยกิริยาหรือวาจา  หรือโดย วิธีการใดๆ ด้วยความพยาบาทมาดร้ายว่า จะทำให้เสียหายในทางใดๆ อันมิใช่เป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม (หรือสิทธิตามกฎหมาย) ถือว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายได้ทั้งสิ้น โดยต้องเป็นการแสดงว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในอนาคต และไม่จำเป็นต้องได้โกรธแค้นเคืองกันมาก่อน เช่น ขู่ว่าจะปลงพระชนม์  จะทำร้าย หรือจะกระทำให้เกิดภยันตรายต่อสิทธิเสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณก็ตามอันไม่ใช่การใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ว่าจะมีเจตนากระทำตามที่ขู่หรือไม่ โดยขู่ หรือแสดงออก มุ่งต่อพระมหากษัตริย์
พระราชินี  รัชทายาท  หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น